จุดประสงค์ของบทความนี้
เนื่องจากมีการแชร์ภาพหูฟังในแก้วกาแฟไปเป็นจำนวนมาก (อย่างน้อย 10,000 retweets) สร้างความสับสนว่าเรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร? ทำไมผู้โพสต์ภาพเหมือนเอาของแพงมาทำลายบ้าง? ผมจึงเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อเล่าความเป็นมาของเรื่องราวทั้งหมด มีภาพประกอบให้ทราบว่าเรื่องนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลัง สำหรับ “สาระ” ของ quote นั้น คาดว่าทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ประโยคมันก็ตรงตัวอยู่แล้ว แทบไม่ต้องอธิบายถึงตัว quote จึงขอบอกไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อจะได้ไม่มองว่า บทความนี้มีแต่ “น้ำ” แต่เพราะผมต้องการจะเล่าถึง “น้ำ” ที่ทำให้คุณเห็น “เรือ” ที่เคยลอยให้คุณมองเห็นมาก่อนหน้านี้ครับ
ชีวิตดีมีเน็ตแรง
16 ก.ค. เวลาบ่าย ๆ ผมเดินไปกินข้าวที่เดอะมอลล์ รามคำแหง หลังจากนั้นก็เอาโน้ตบุ๊กพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ที่ชั้น G เหตุผลหนึ่งที่เลือกมาทำงานที่นี่ก็เพราะมีซิมการ์ดของ AIS ที่มีโปรโมชั่น AIS Super WiFi แบบ unlimited หมายความว่า ผมสามารถใช้ WiFi ได้ฟรีแบบไม่อั้น (เกี่ยวกับ AIS Super WiFi คลิก) ซึ่งเมื่อทดสอบความเร็วของอินเทอร์เน็ตแล้ว พบว่ามีความแรงแบบคาดไม่ถึง แรงกว่าอินเทอร์เน็ตที่คอนโดฯ ของผมมากมาย วันนั้นวัดค่าความเร็วได้ดังภาพ
หูฟังที่พังแล้ว
ปกติแล้วผมจะมีหูฟังหลายอัน อันหนึ่งที่ใช้มานานคือ EarPods ที่แถมมากับ iPhone ซึ่งตัวที่ใช้อยู่สายข้างหนึ่งมันขาดแล้ว ช่วงนี้ผมจะโทรผ่าน Facebook Messenger หาคน ๆ หนึ่งทุกวัน
โดยปกติจะโทรผ่านมือถือ แต่วันนั้นเนื่องจากมี WiFi แรง ๆ แบบเทพ ๆ จึงอยากลองโทรผ่านหน้าคอมฯ และจะได้ใช้มือถือทำอย่างอื่น เช่น เล่นเกมเศรษฐี ไปด้วยขณะทำงาน แต่พอลองโทร ปรากฎว่าอีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ยินเสียงของผม จึงสันนิษฐานว่า “หูฟังเราพังแล้ว” ซึ่งก็ควรอยู่… เพราะใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปีอย่างสมบุกสมบัน ไมค์ข้างในคงเสียแล้ว จึงคิดว่า เอาไปทิ้งน่าจะคุ้มกว่าเอาไปซ่อม เรื่องเคลม… ไม่ต้องพูดถึงเพราะมันไม่ได้อยู่ในประกันนานแล้ว และไม่อยู่ในเงื่อนไขของการเคลมด้วย
ในวันนั้น ผมสั่งกาแฟ 2 แก้ว, แก้วแรกซื้อลาเต้เย็น และได้ใบเสร็จที่สามารถนำไปแลกกาแฟฟรีอีก 1 แก้วเมื่อกรอกแบบสอบถาม ซึ่งแก้วที่ 2 ที่ได้ฟรีมีมูลค่า 110 บาท ในความคิดของผม, การแลกแบบสอบถามจากคนๆ เดียวด้วยต้นทุน 110 บาท ผมว่าแพงนะ… ซึ่งทำให้เห็นว่าแบรนด์ Starbucks ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของลูกค้ามาก ๆ หรือมองอีกมุมหนึ่งสตาร์บัคส์รวยมาก ๆ รวยแบบพร้อมแลกกระดาษ 1 แผ่นที่มีข้อมูลเชิงสถิติด้วยเงินร้อยกว่าบาท
คุยกับครีเอทีฟเอ็มวี
ขณะที่กำลังจะเอาหูฟังไปทิ้ง ก็เกิดไอเดียบางอย่างขึ้นมาจากเรื่องราวในความคิดที่สะสมมาหลายๆ วัน ประกอบกับกำลังพูดคุยกับน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานทำมิวสิควีดีโอเพลง “ทางของฝุ่น” ของศิลปินชื่อ “อะตอม”
เราคุยกันถึงเบื้องหลังการทำงานและถกกันเรื่องการทำงานด้านสื่อ (ดังภาพหน้าจอสนทนา)
คำพูดหนึ่ง… ลอยเข้ามาในความคิดคือประโยค “เราจะมีหูฟังไปทำไม เมื่อเราต่างไม่อยากรับฟังกันอีกแล้ว” โดยวรรคที่สองของประโยคมีพื้นเดิมมาจากเนื้อเพลงๆ หนึ่งของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ คือ เพลง “อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ” ซึ่งต่อมาได้มีการนำมาร้องใหม่โดยศิลปินหลาย ๆ คน เช่น บี้ สุกฤษฏิ์ (ละคร “ข้ามเวลาหารัก”)
ความหมายเชิงลึกของงานเขียน
ในเพลง “อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ” มีเนื้อร้องตอนหนึ่ง กล่าวว่า “อยากจะมีเหตุผล บอกเธอให้เข้าใจ แต่เธอก็คงไม่อยากจะรับฟัง” ประพันธ์โดยคุณโอภาส พันธุ์ดี
คำว่า “รับฟัง” ในความรู้สึกและบริบทของ quote ที่คิดขึ้นมาขณะมองเห็นหูฟังที่พังแล้วในแก้วกาแฟที่พร้อมจะทิ้ง มันหมายถึง “การรับรู้และฟังกัน” ไม่ได้มีเจตนาสื่อในความหมายแบบทางการ หากเป็นคนที่ติดตามผลงานเขียนของหกสิงหาอยู่ ก็จะพบว่ามีงานเขียนมากมายที่มาในลักษณะของคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันนำมาเขียนช้อนกัน เช่นคำว่า “เคียงข้าง” เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายโดยส่วนมาก ก็เพียงให้เกิดความคล้องจองสัมผัสของเสียง และความลุ่มลึกของเนื้อหาที่คนเขียนรู้อยู่ในใจ (ซึ่งก็ทำให้รู้ว่า… หกสิงหาควรอธิบายมากขึ้นในงานเขียนที่สั้นแต่ลึก)
คำว่า “รับฟัง” มีการแสดงที่มาใน 2 ลักษณะ (ที่ค้นมาได้) ดังภาพ…
ซึ่งคำว่า “รับฟัง” ในบริบทของ quote ที่เขียนขึ้นมา (เราจะมีหูฟังไปทำไม เมื่อเราต่างไม่อยากรับฟังกันอีกแล้ว) มีความหมายในเชิงแบบในภาพข้างบนนั้น ไม่ได้อิงตามความหมายของราชบัณฑิตยสถาน (ดังภาพข้างล่าง)
คำว่า “รับฟัง” ในความหมายและความรู้สึกของหกสิงหา หมายความถึงการ tune in (ตามพจนานุกรมของ NECTEC’s Lexitron) คือการปรับความเข้าใจกันระหว่างคนสองคนเมื่อต้องใช้หูฟังเพื่อการสนทนากัน เช่น การคุยโทรศัพท์โดยใช้หูฟังเสียงพูดจากอีกฝั่งหนึ่ง ฯลฯ เมื่ออีกคนมีทิฐิมานะ มีอีโก้ หรือความรู้สึกหมดรักหมดใจแล้ว หูฟังที่ดีๆ อยู่ก็ไม่ต่างอะไรกับหูฟังที่พังแล้ว (คือ ลำโพงเสีย ทำให้ไม่ได้ยินเสียง) การมีหูฟังจึงเหมือน “ไม่มี” และเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ทันทีเมื่ออีกคนไม่อยากปรับความเข้าใจกับเรา
ภาพการทิ้งหูฟังลงในแก้วกาแฟ (รูปธรรม) จึงเป็นการสื่อถึงนามธรรม (abstract) คือความรู้สึกที่แฝงอาการประชดประชันของอีกฝ่ายหนึ่ง (ฝ่ายที่ส่งสาร) เพื่อบอกให้คนๆ นั้นรู้ว่า “ก็เธอไม่อยากฟังเราแล้วนี่…” ถ้างั้นก็ทิ้งอุปกรณ์สื่อสารระหว่างเราสองคนไปเถอะ (หูฟังของเธอและของฉัน) มันคือการบอกคนๆ หนึ่งว่า เปิดใจรับฟังความคิดกันหน่อยเถอะ ไม่ง้ันจะมีหูฟังไว้ฟังคำพูดของกันและกันไปทำไม?
6 Comments
Leave your reply.