23 มีนาคม 2559 เวลา 15.31 น. มีข้อความหนึ่งเด้งเข้ามาใน Official LINE ของผม
สวัสดีค่ะคุณหกสิงหา ได้มีโอกาสติดตามผลงานของพี่มาสักพัก
ชอบงานเขียนและคำคม ข้อความให้กำลังใจค่ะ
ถ้ามีโอกาส…
อยากชวนคุณหกสิงหาได้ลองมาสัมผัสการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ไร่สิงห์ ปาร์ค เชียงรายของเราค่ะ
หลังจากพูดคุยทางโทรศัพท์กับคนที่ไลน์มาหา ก็นับวันรอเดินทางไกลไป จ.เชียงราย จังหวัดที่ไม่ได้ไปมานานหลายปี แต่มีอะไรดีๆ ที่ทำให้อยากไปทริปนี้ และถือโอกาสนี้ออกจากถ้ำหรือห้องในคอนโดฯ ไปเปิดหูเปิดตาต่างจังหวัดบ้าง : )
ดีที่สุด คือ การให้ไม่สิ้นสุด
ด้วยความเป็นนักเขียนที่ออกจะเป็นมนุษย์ที่มีโลกส่วนตัวและเงื่อนไขทางอารมณ์ค่อนข้างมาก (ภาษาบ้านๆ คือ “เยอะ”) ก็ออกจะหวั่นๆ อยู่พอสมควรในการไปเที่ยวเชิงเกษตรกับสิงห์ ปาร์คฯในครั้งนี้ เพราะเป็นคนชอบความสบาย ชอบอยู่คนเดียวในที่ของตัวเอง การไปครั้งนี้เป็นการเดินทางเพื่อเรียนรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งสำหรับบางคน อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในโลกความคิด แต่สำหรับผม… ผมได้ยินเรื่องนี้และสนใจมาไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรกจากนักเขียน นักเดินทาง พิธีกรชื่อดังคนหนึ่ง (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) ซึ่งเขาได้เคยเล่าเอาไว้ในคลิปวีดีโอนี้ คลิก และผมคิดว่าการชมคลิปที่ไม่ถึง 10 นาทีนี้เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับคำว่า “กิจการเพื่อสังคม” หรือ “ธุรกิจเพื่อสังคม” และหากอยากเข้าใจแบบละเอียดก็สามารถอ่านจากบทความนี้ คลิก ซึ่งได้อธิบายความหมายและคุณลักษณะสำคัญของกิจการเพื่อสังคมเอาไว้ครับ
เราคงเคยได้ยินคำถามชวนคิดว่า “ถ้ามีปลาอยู่หนึ่งตัว ทำอย่างไรจะกินปลาได้ตลอดปี?” ถามแบบนี้บางคนที่กวนๆ อาจตอบว่า “ไม่ดีมั้ง… กินปลาทั้งปีก็น่าเบื่อตาย” (ฮา) คำเฉลยของคำถามข้างต้นคือ การทำอาหารเมนูปลาไปแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน เมื่อเพื่อนบ้านได้รับน้ำใจจากเรา แม้เราไม่ได้หวังการตอบแทน แต่ธรรมชาติอันงดงามในใจของมนุษย์ก็จะดลให้ผู้รับอยากทำหน้าที่ผู้ให้บ้างนั่นเอง จากปลา… อาจจะเปลี่ยนเป็นหมู หรือสิ่งที่ยิ่งไปกว่าคือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (เพื่อนบ้านคอยช่วยดูแลเวลาเราไม่อยู่บ้าน)
แต่… กิจการเพื่อสังคมไม่ได้มี “พลังแห่งการให้” เพียงแค่นั้น ยังมีอะไรอีกมากมายที่เกิดขึ้นจากไอเดียดีๆ นี้ ดังที่ Alex Hannant, Executive Director เจ้าของมูลนิธิที่ชื่อว่า Hikuranggi Foundation ได้เล่าไว้ใน TEDxTeAro คลิก
“ดีที่สุด คือ การให้ไม่สิ้นสุด” คือความเชื่อของ Singha Corporation และโดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า infinite sharing หรือการให้ไม่สิ้นสุดที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise เพราะสิ่งนี้ทำให้การให้ไปหนึ่งครั้งเกิดกลไกในการดูแลตัวเองในเวลาต่อมา การให้หนึ่งครั้งจึงไม่ได้จบแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งผมอยากจะเรียกสิ่งนี้ว่า “พลวัตแห่งการให้” (sharing dynamics)
โดยสรุปสั้นๆ กิจการเพื่อสังคม คือ การทำกิจการเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม อาจมีคำถามตามมาว่า… แล้วพื้นที่ในบริเวณสิงห์ ปาร์ค เชียงรายมีอะไรให้เข้าไปแก้ไข? ปัญหาก็คือ การที่คนส่วนหนึ่งในท้องที่นั้นขาดรายได้ ขาดที่ทำมาหากิน ทางสิงห์ฯ จึงริเริ่มด้วยการทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีกินด้วยการทำให้พวกเขามีงาน มีการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวจาก products หรือสินค้าการเกษตรที่สิงห์ ปาร์คฯ สามารถจะเป็นผู้นำเข้ามาเป็นอาชีพให้คนในพื้นที่ได้ เช่น ชาอู่หลง เบอร์ 12, สตอเบอรี่, บลูเบอรี่, เมล่อน ฯลฯ ทั้งในส่วนการผลิต, การดูแล, การจัดจำหน่าย เกิดเป็นระบบงานบริษัทหรือกิจการที่มีรายได้หมุนเวียนให้กับคนในท้องที่ พร้อมๆ ไปกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ในฐานะของผู้มาเยี่ยมเยือน, เราก็สามารถมองเห็นคุณลักษณะสำคัญของไร่สิงห์ ปาร์คฯ ในแง่การเป็นกิจการเพื่อสังคม (โดยเทียบเคียงกับเนื้อหาของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ) ได้ดังต่อไปนี้…
คุณลักษณะสำคัญของสิงห์ ปาร์ค เชียงราย
ถาม/ตอบ – ผู้บริหารงานในพื้นที่
เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ผมได้ขอเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารของสิงห์ ปาร์ค เชียงราย โดยขอนำบางส่วนของการพูดคุยเอามาเล่าในที่นี้ครับ
คุณนรินทร์: “ผม… นรินทร์ เมฆขยาย เป็นหัวหน้าโครงการชาอู่หลง โครงการ 3 เป็นชาออร์แกนิกน่ะครับ พื้นที่ 200 ไร่ ที่ผมดูแลอยู่ครับ”
หกสิงหา: “จริงๆ ผมก็เป็นคนดื่มชาแล้วก็เพิ่งรู้ว่าชาอู่หลงมีที่นี่เป็นต้นกำเนิดในประเทศไทยเลยใช่มั้ยครับ?”
คุณนรินทร์: “ในประเทศไทย มีจังหวัดเชียงรายที่มีชาเป็นต้นกำเนิดครับ คือ ชาจะต้องปลูกในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 400 เมตรขึ้นไป”
หกสิงหา: “ที่ผมเคยอ่านดู มันมีชาเบอร์ 12 แสดงว่าชามีหลายเบอร์ใช่มั้ยครับ?”
คุณนรินทร์: “เบอร์ 17 เป็นชาเหมือนชาก้าน จะต้องปลูกในพื้นที่ที่สูงกว่า”
หกสิงหา: “คนงานที่เข้ามาทำงาน เป็นคนจากไหนครับ?”
คุณนรินทร์: “มาจากคนในพื้นที่และชาวเขาที่อยู่หลังไร่เราครับ”
หกสิงหา: “ดีนะครับ ทำให้คนมีอาชีพ”
คุณนรินทร์: “ใช่ครับ, เรามีสวัสดิการ มีบ้านพัก ค่ารักษาพยาบาล ประกันสังคม อัตราค่าจ้างก็ตามแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน นอกจากนั้นเรายังใช้เครื่องมือทางการเกษตรมาช่วยทุ่นแรงให้กับคนงานของเราด้วยครับ”
หกสิงหา: “เกี่ยวกับครอบครัวของคนงาน มีการช่วยเหลือกันอย่างไรบ้างครับ?”
คุณนรินทร์: “ก็จะมีคณะแพทย์ของพระยาภิรมย์ภักดีมาตรวจสุขภาพ เป็นระยะๆ ครับ”
หกสิงหา: “พี่ทำงานที่นี่มานานแค่ไหนครับ?”
คุณนรินทร์: “ก็อยู่ที่ไร่นี้มา 20 กว่าปี ทำงานด้านพืชไร่ พริก ผักต่างๆ สุดท้ายก็มาทำเรื่องชา ซึ่งทำเรื่องชามา 7 ปีแล้วครับ”
หกสิงหา: “พี่คิดว่าที่นี่ให้คุณค่าอะไรกับสังคมและคนในพื้นที่บ้างครับ?”
คุณนรินทร์: “อย่างแรกคือ… ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง มีการอนุรักษ์พื้นที่ ปลูกต้นไม้ตลอด มีการจ้างงาน ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการต่างๆ ครับ”
หกสิงหา: “กรณีที่บางปี ฝนไม่ค่อยตก ที่นี่รับมือกับปัญหานี้ยังไงบ้างครับ?”
คุณนรินทร์: “เรามีอ่างเก็บน้ำกว่า 50 กว่าอ่าง ซึ่งก็คงไม่เป็นปัญหาอยู่แล้วครับ”
ระหว่างเดินไปเดินมา เก็บภาพบรรยากาศต่างๆ ในสวน ผมเหลือบไปเห็นเหมือนๆ จะเป็นนักศึกษากลุ่มหนึ่งกำลังประชุมงานกัน เลยชวนมานั่งพูดคุยด้วย เธอชื่อ “กวาง”
จากการพูดคุยกับน้องกวาง ทำให้รู้ลึกไปกว่าเดิมว่า สิงห์ ปาร์ค เชียงราย ไม่ได้เป็นเพียงกิจการที่แก้ปัญหาคนในวัยทำงานและระบบนิเวศน์เพียงเท่านั้น แต่ช่วยแก้ปัญหาด้านการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชนในพื้นที่อีกด้วย โดยการเชิญชวนนักศึกษาและอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยสอน อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องอาคารเรียน
เที่ยวสวนสิงห์สไตล์หกสิงหา
ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนไม่ค่อยได้ไปไหน พอนึกถึงเรื่องการเดินทางโดยเครื่องบินไปทางเหนือก็จะนึกถึงเชียงใหม่ก่อนจังหวัดอื่นๆ คือค่อนข้างชัวร์ว่ามีสนามบินอย่างแน่นอน และสำหรับใครที่ไม่ค่อยได้ออกบ้านก็อยากบอกว่า เชียงรายมีสนามบินแล้ว และมีมานานแล้วด้วยครับ คือ สนามบินแม่ฟ้าหลวง สะดวกสบายจ่ายไม่กี่พันบาทก็เดินทางมาถึงสวรรค์บนทิวดอยในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง หลังจากเข้าที่พัก เก็บของที่โรงแรมแล้ว ผมก็ออกเดินทางโดยรถตู้ไปรับประทานอาหารกลางวัน อิ่มท้องแล้วก็คิดถึงกาแฟเย็น พอรถตู้พาไปถึงสิงห์ ปาร์ค… ก็ลิ่วไปที่ร้านกาแฟก่อนเลยครับ “ลาเต้เย็นแก้วนึงครับ”
มองไปฝั่งตรงข้าม… เห็นอาคารที่ดูคล้ายร้านชา มีเคาท์เตอร์ มีที่นั่งคล้ายๆ ร้านกาแฟชิคๆ ผมจึงไม่รีรอที่จะเดินไปเยี่ยมชม และพูดคุยกับพนักงานที่นั่น
ถ้าใครที่สนิทกับผม (มีคนมาสนิทด้วยเหรอในชีวิตนี้…) จะทราบว่า ผมเป็นคนที่เข้าห้องน้ำบ่อย เหมือนน้ำในร่างกายเบื่อหน่ายการอาศัยอยู่ในตัวผม อยากออกไปสู่โลกภายนอกบ่อยมากๆ ดื่มกาแฟเย็นแล้ว ก็เริ่มมองหาห้องสุขาชายในบริเวณนั้น ระหว่างทาง… ผมมองเห็นหมู่โต๊ะ (ไม่ใช่ “โต๊ะหมู่” … มุกอะไรเนี่ย 555) เรียงเป็นแนวน่านั่งมากๆ
เดินมาสุดทาง… ก็แลเห็นอาคารหลังหนึ่ง แวดล้อมกับแมกไม้สีเขียวสบายตา เวลาแหงนหน้ามองผ่านสิ่งที่คล้ายม่านใบไม้จะเห็นเหมือนประกายแสงระยิบระยับที่เกิดจากการไหวตัวของใบไม้ตัดกับแสงแดดที่สาดส่องลงมา ในระดับเดียวกับกึ่งลำตัวเราก็มีรากของต้นไม้ห้อยระย้าลงมา รอบข้างทางเดินประดับประดาด้วยดอกไม้สีแดง ชมพู ขาว จนลืมคิดไปว่า “นี่คือส้วม” เพราะการออกแบบและตกแต่งภายนอกเหมือนอาคารสำหรับพักพิง ดูสวยงามและกลมกลืนไปกับอาคารสถานที่รายรอบ แตกต่างกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ตัวอาคารสุขามักจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์และการออกแบบที่เห็นไกลๆ ก็รู้ว่า “ส้วม” แน่ๆ สถาปนิกเหมือนคิดออกแบบแนวซ่อนรูป คล้ายผู้ชายที่ดูผอมๆ แต่พอถอดเสื้อก็เห็นกล้ามท้องเป็นลอนเป็นลูก (ซึ่งไม่ใช่หกสิงหา 555)
การเที่ยวที่สิงห์ ปาร์คฯ สามารถทำได้ 3 แบบหลักๆ คือ
- นั่งรถฟาร์มทัวร์ชมรอบสวน
- ปั่นจักรยาน
- เดินเท้า (หรือใครอยากวิ่งก็ได้ครับ)
รถยนต์ส่วนบุคคลก็สามารถนำเข้าไปได้ แต่จะมีเส้นทางที่เลี่ยงสถานที่ที่มีคนและธรรมชาติ โดยส่วนมากรถยนต์จะวิ่งเข้ามาเพื่อไปร้านอาหารในสวน เมื่อขึ้นรถฟาร์มทัวร์แล้ว ก็จะมีพนักงานต้อนรับคอยแนะนำสถานที่ต่างๆ ให้เรารู้จักคุณค่าของสถานที่แห่งนี้มากยิ่งขึ้น หากอยากเที่ยวชมแบบใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทางสิงห์ ปาร์คฯ ก็มีจักรยานอย่างดีคอยให้บริการแก่ผู้มาเยือน (ไม่ต้องแบกจักรยานมาเองนะครับ)
ในสวนมีสัตว์… แม้ไม่ได้เป็นสวนสัตว์ และแบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน ดอกไม้บานสะพรั่งท่ามกลางพื้นที่สีเขียว แต่การไปในฤดูร้อนในครั้งนี้ก็ทำให้พลาดไม่ได้พบดอกไม้ในฤดูหนาวไปบ้าง สวนแห่งนี้มีจุดพักชมวิว ให้อาหารสัตว์ ที่บางโมเม้นต์ก็อยากแอบกินด้วย (ฮา)
เนื่องจากผมเป็นคนที่ชอบสังเกต และเก็บรายละเอียดไว้พอสมควร จึงคิดว่าจะเล่าเป็นตอนๆ ไป และขอจบตอนแรกไว้เท่านี้ก่อน โปรดติดตามตอนต่อไปครับ : )
Leave a Reply
Your email is safe with us.